สงครามอิตาลี (ค.ศ. 1551-1559) หรือบางครั้งก็เรียกว่า สงครามฮับส์บูร์ก-วาลัว (อังกฤษ: Italian War of 1551–1559 หรือ Habsburg-Valois War) เป็นส่วนหนึ่งของมหาสงครามอิตาลี (ค.ศ. 1494-1559) ที่เกิดขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1551 จนถึง ค.ศ. 1559 สงครามอิตาลีครั้งนี้เป็นความขัดแย้งที่เริ่มขึ้นเมื่อพระเจ้าอ็องรีที่ 2 แห่งฝรั่งเศสผู้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าฟร็องซัวทรงประกาศสงครามต่อจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ โดยมีจุดประสงค์ที่จะยึดอิตาลีคืน และสร้างเสริมพลานุภาพของฝรั่งเศสในยุโรปให้เหนือกว่าอำนาจของฮับส์บูร์ก
ในระยะแรกของสงครามการเข้าไปโจมตีในดัชชีลอแรนของพระเจ้าอ็องรีประสบกับความสำเร็จ โดยทรงยึดนครของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ได้สามแห่ง คือ แม็ส ตูล และ แวร์เดิง แต่เมื่อทรงเดินทัพไปรุกรานแคว้นทัสกานีในปี ค.ศ. 1553 ในการสนับสนุนซีเอนาที่ถูกโจมตีโดยกองทัพของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และทัสกานี พระองค์ก็ได้รับความพ่ายแพ้ในยุทธการที่มาร์เชียโนต่อจัน จาโกโม เด เมดีชี (Gian Giacomo Medici) ซีเอนาเสียเมืองในปี ค.ศ. 1555 และในที่สุดก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของแกรนด์ดัชชีทัสกานีที่ก่อตั้งขึ้นโดยโกซีโมที่ 1 เด เมดีชี
สนธิสัญญา Vaucelles ลงนามกันเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1556 ระหว่างพระเจ้าเฟลีเปที่ 2 แห่งสเปน และพระเจ้าอ็องรีที่ 2 แห่งฝรั่งเศส ตามข้อตกลงฝรั่งเศสต้องยกแคว้นฟร็องช์-กงเตให้แก่พระเจ้าเฟลีเป และฝรั่งเศสก็ละเมิดสนธิสัญญาไม่นานหลังจากที่ลงนาม
เมื่อจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 สละราชสมบัติในปี ค.ศ. 1556 โดยแบ่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ระหว่างพระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งสเปน และจักรพรรดิแฟร์ดีนันด์ที่ 1 ศูนย์ของสงครามก็เปลี่ยนไปเป็นบริเวณฟลานเดอร์ส ที่พระเจ้าฟิลิปและเอมมานูเอล ฟิลิแบร์ต ดยุกแห่งซาวอยได้รับชัยชนะต่อฝรั่งเศสในยุทธการที่แซ็ง-ก็องแต็ง (Battle of St. Quentin) การเข้าร่วมสงครามโดยอังกฤษในปลายปีเดียวกันทำให้ฝรั่งเศสสามารถยึดกาเลได้ และทำการทำลายทรัพย์สินของสเปนในบริเวณกลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำ แต่กระนั้นพระเจ้าอ็องรีที่ 2 แห่งฝรั่งเศสก็ยังทรงถูกบังคับให้ยอมตกลงในสัญญาสันติภาพในการประกาศสละการอ้างสิทธิทุกอย่างในอิตาลี
แต่สงครามสิ้นสุดลงด้วยเหตุผลอื่นที่ไม่เกี่ยวกับสงครามโดยตรง ที่รวมทั้งการประกาศล้างหนี้ซ้อนในปี ค.ศ. 1557 เมื่อราชบัลลังก์สเปนตามด้วยฝรั่งเศสประกาศล้มเลิกหนี้สินต่างๆ ทั้งหมด นอกจากนั้นทั้งสองฝ่ายก็ยังต้องเผชิญหน้ากับปรปักษ์โปรเตสแตนต์ภายในราชอาณาจักรของตนเองที่ต่างก็หวังที่จะทำลายให้หมดสิ้น
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/สงครามอิตาลี_(ค.ศ._1551-1559)